ไมเกรน อาการยอดฮิตคนทั่วทุกทิศชอบเป็นกัน พออาการมาทีไรมักจะสร้างความรำคาญทันที เพราะอาการปวดจะมาเป็นระยะ ปวดตุ๊บๆ จนเสียสมาธิการทำงาน แทบไม่อยากทำอะไรเลยวันนั้น อยากกินยานอน และซุกตัวอยู่ในผ้าห่ม ปลีกวิเวกอยู่คนเดียว เพราะกว่าจะหายก็ 2 – 3 วัน และต้องทนอยู่กับความปวดอยู่ 2 – 4 ชั่วโมง
ไมเกรนมาแล้ว…อาการแบบนี้ใช่ไหม?
1.ปวดหัวตุ๊บๆเป็นจังหวะอยู่ข้างเดียว ร้าวไปถึงขมับ
2.ปวดบริเวณเบ้าตา เหมือนหัวใจเต้นตุ๊บๆแรงๆ
3.ยิ่งขยับร่างกาย ยิ่งปวดมากขึ้น
4.ปวดมากจนไม่อยากทำอะไรเลย
5.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเป็นบางครั้ง
6.ทนต่อแสงแดดจ้าๆหรือเสียงดังไม่ค่อยได้ เพราะจะปวดมาก
7.เบื่ออาหาร ทานอะไรก็ไม่อร่อย
ไมเกรนเกิดจากอะไรกันแน่…?
ทางการแพทย์กล่าวว่าไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้าๆ (ทำให้เกิดอาการปวดเป็นระยะๆ) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้สารเคมีในสมองบางชนิดหลั่งผิดปกติและเสียสมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดมีความไวต่อการกระตุ้นมากเป็นพิเศษ เกิดการหดและขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติ ทำให้มีอาการปวดศรีษะเป็นระยะ แตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย
ไมเกรนถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยอะไรบ้าง…?
1.ช่วงที่ก่อนมีประจำเดือน ระหว่างมีประจำเดือน ช่วงหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ระหว่างตั้งครรภ์ และการรับประทานยาคุมกำเนิด เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
2.มีการกระตุ้นจากประสาทสัมผัส เช่น แสงแดด เสียง กลิ่นต่างๆ
3.อาหาร และเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชีส ไวน์แดง ชา กาแฟ
4.การนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่เป็นเวลา นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป
5.สิ่งแวดล้อมรอบนอก เช่น อากาศร้อน ฝุ่น ควัน
6. ยาบางชนิดที่มีผลในการรักษาโรค
ไมเกรนมา…จะรักษายังไง…?
จากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยจากหลายๆที่ก็ยังไม่พบวิธีที่จะรักษาไมเกรนให้หายขาดได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่เป็นเพียงการทำความเข้าใจกับไมเกรน เพื่อจะรับมือกับอาการปวด หรือป้องกันอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยไมเกรนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอาการปวดน้อยลง และทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
ซึ่งการรักษาไมเกรนจะแบ่งเป็นยาสำหรับรักษาและป้องกันอาการ ดังนี้
– ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง นานๆจะมีอาการปวด อาจจะรักษาด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล
– ผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงและบ่อยขึ้น หนึ่งเดือนมีอาการปวด 2 ครั้ง ขึ้นไป แพทย์จะให้ทานยาป้องกัน ซึ่งต้องรับประทานติดต่อกัน
การรักษาไมเกรนนั้นขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ถ้ารายไหนไม่ค่อยชอบทานยาต่อเนื่อง คุณหมอจึงมีการปรับความยืดหยุ่นไม่ให้รับประทานยาต่อเนื่องได้ แต่คุณต้องทนอยู่กับอาการปวดได้ และให้เน้นไปที่พฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการปฏิบัติตัวนั่นเอง
ไมเกรน โรคยอดฮิตของผู้คนถ้าเป็นครั้งที่ 1 แล้ว ครั้งที่ 2 และที่ 3 มักจะตามมาเสมอ ถ้าเราไม่หมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของตัวเองให้แข็งแรงสดใสจากภายในสู่ภายนอกไมเกรนก็จะมาเยือนเรื่อยๆ อย่ารอให้ตัวเองเป็นผู้ป่วยเมื่อเรารู้วิธีป้องกัน ดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆใกล้ตัวคุณ คือเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สดใส ไม่เครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ เราก็จะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจ ที่แข็งแรงแน่นอน